แผ่นดินไหวตุรกี : ผู้ประสบภัยโกรธแค้นภาครัฐเข้าให้ความช่วยเหลือล่าช้า

ฟันดานูร์ ออซเติร์ก

บีบีซี เวิลด์เซอร์วิส รายงานจากเมืองอิสเคนเดอรุน, ตุรกี

เมื่อ 8 ชั่วโมงที่แล้ว

“พวกคุณมาช้า ช้าเกินไป !” อาร์ซู เดเดโอกลู ร้องตะโกนใส่เจ้าหน้าที่กู้ภัยที่เพิ่งเดินทางมาถึงเมืองอิสเคนเดอรุน ทางภาคใต้ของตุรกี

เมืองท่าแห่งนี้คือหนึ่งในพื้นที่ได้รับความเสียหายรุนแรงที่สุดจากแผ่นดินไหวขนาด 7.8 ที่เขย่าตุรกีและซีเรียเมื่อ 6 ก.พ.

อาร์ซูมีหลานสาว 2 คนที่ยังติดอยู่ใต้ซากปรักหักพัง เสียงร้องของน้าที่หัวใจแตกสลายอย่างเธอดังก้องท่ามกลางความเงียบสงัดบริเวณดังกล่าว

เจ้าหน้าที่กู้ภัยหยุดทำงานลงครู่หนึ่ง แต่ครอบครัวของเด็กหญิงวิงวอนขอพวกเขาอย่าหยุด

“ได้โปรดอย่าเพิ่งไป บางทีลูก ๆ ของพวกเรายังอาจมีชีวิตอยู่” แม่ของเด็กหญิงร้องขอ

การรับมือต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นของทางการได้จุดกระแสความไม่พอใจอย่างรุนแรงจากชาวบ้านแถบนี้

อาร์ซูเล่าให้บีบีซีฟังถึงความล่าช้าในการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักจัดการภาวะฉุกเฉินและภัยพิบัติของตุรกี (Disaster and Emergency Management Authority หรือ AFAD) เธอบอกว่าชาวบ้านได้จัดหารถตักดินเพื่อขนซากปรักหักพังออกไป แต่เจ้าหน้าที่ไม่ยอมให้พวกเขาใช้มัน

“พวกเรารอจนดึกดื่น แต่ก็ไม่มีใครมา พวกเราเลยหารถตักดินกันเอง แต่พวกเขาไม่ยอมให้เราใช้มัน…เรามีเด็ก 2 คนติดอยู่ใต้ซากอาคาร ลูกสาวของพี่สาวฉัน ไอเชกูล และอีไลดา ตอนนี้พวกเธอจากไปเสียแล้ว” อาร์ซูเล่า

“ฉันภาวนาให้พวกเขามาถึงก่อนบ่าย พวกเราจัดหาเครื่องปั่นไฟด้วยตัวเอง พวกเราพยายามอย่างเต็มที่ แต่เราต้องอพยพออกจากแฟลตเพราะเกิดอาฟเตอร์ช็อก จนถึงตอนนั้นพวกเรายังมีหวังว่าหลาน ๆ จะรอด เพราะเราเตรียมเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ ไว้พร้อมแล้ว ทำไมพวกเขาไม่มาให้เร็วกว่านี้” เธอตัดพ้อ

“ทำไมไม่มาตั้งแต่เมื่อวาน”

ถัดไปอีกไม่ไกลบนถนนสายเดียวกัน ชาวบ้านอีกกลุ่มกำลังรอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่กู้ภัยอยู่ที่อะพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งที่พังถล่มลงมา

พวกเขาเล่าว่า แม้เวลาผ่านไป 24 ชั่วโมง แต่ก็ยังไม่มีวี่แววเจ้าหน้าที่ AFAD เข้าให้ความช่วยเหลือ

ขณะเดียวกัน มีเจ้าหน้าที่กู้ภัยอีกหน่วยกำลังช่วยเหลือกลุ่มชาวบ้าน ทีมข่าวบีบีซีได้ยินเสียงผู้หญิงคนหนึ่งร้องตะโกนว่า “ทำไมพวกคุณไม่มาตั้งแต่เมื่อวาน พวกเรายังได้ยินเสียงร้องออกมาจากซากปรักหักพังเมื่อวาน!”

ผู้ประสบภัยเล่าว่า พวกเขาเฝ้าคอยความช่วยเหลือจากทางการตั้งแต่วันที่เกิดแผ่นดินไหว แต่หลังจากเวลาล่วงเลยไป 24 ชั่วโมง เสียงร้องใต้อาคารที่พังถล่มลงมาก็เงียบลงในช่วงหัวค่ำ

ผู้หญิงอีกคนร้องตะโกนทั้งน้ำตาว่า “เราอาจช่วยชีวิตพวกเขาได้ถ้าพวกคุณมาถึงเมื่อวาน”

“พวกที่ทอดทิ้งเรา ไม่ควรมีหน้ามาขอคะแนนเสียง”

ที่อะพาร์ตเมนต์เดียวกันนี้ มีควันไฟพวยพุ่งออกมาจากด้านบน ผู้รอดชีวิตที่หนีออกมาได้กำลังรอให้เจ้าหน้าที่ช่วยชีวิตสมาชิกครอบครัวที่ยังติดอยู่ใต้ซากอาคาร

พวกเขาเล่าว่า “ไม่มีหน่วยดับเพลิงเข้ามาที่นี่ตั้งแต่เมื่อวาน ถ้าพวกเขา (ผู้ติดอยู่ใต้อาคาร) ยังมีชีวิตรอดจากแผ่นดินไหว พวกเขาก็อาจต้องตายจากควันไฟแทน”

ทันทีที่เห็นกล้องผู้สื่อข่าว อาลี เอินแดร์ ก็มุ่งตรงเข้ามาเพื่อบอกเล่าความอัดอั้นตันใจที่มีว่า “ผมมีคน 8 ชีวิตติดอยู่ใต้ตึกนี้ ไม่มีใครมาช่วย AFAD ก็ยังไม่มา คนที่ทอดทิ้งพวกเรา จงอย่ามีหน้ามาขอคะแนนเสียงเลือกตั้งจากเรา”

ตุรกีกำลังจะจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และประธานาธิบดีวันที่ 14 พ.ค.นี้ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นบททดสอบครั้งสำคัญของประธานาธิบดีเรเจป ทายยิป แอร์โดอัน

อาลีเองก็ติดอยู่ใต้ซากปรักหักพังอยู่นาน 2 ชั่วโมงครึ่งก่อนจะดิ้นรนจนหลุดออกมาได้ แต่เขาต้องแขนหักขณะพยายามเอาชีวิตรอด

“อาคารที่ถล่มลงมามีอยู่ด้วยกัน 15 ห้อง ผมกับผู้รอดชีวิตคนอื่นช่วยคนออกจากซากปรักหักพังมาได้ 10 คน” เขาเล่า

“ไม่มีคนจากภาครัฐมาที่นี่เลย ทุกคนต่างช่วยชีวิตญาติพี่น้องออกมาด้วยตัวเอง พวกเราขุดซากปรักหักพังด้วยสองมือ”

“ทีมยามฝั่งมาที่นี่ พวกเขาถามเราว่ามีเครื่องตัดเหล็กหรือเครื่องเจาะไหม พวกเขาจะมาทำอะไรที่นี่ถ้าต้องมาถามหาอุปกรณ์จากพวกเรา แทนที่จะช่วยปลอบใจผม มันเหมือนการเอาเกลือมาทาบาดแผล” อาลีบอก

บรรยากาศในเมืองอิสเคนเดอรุนขณะนี้ไม่ต่างจากเมืองร้าง

สัญญาณชีวิตเดียวที่นี่ คือผู้ประสบภัยที่จับกลุ่มรอบกองไฟสร้างความอบอุ่นให้ตัวเองท่ามกลางสภาพอากาศอันหนาวเหน็บของเดือน ก.พ.