ผู้นำยูเครนเยือนกรุงบรัสเซลส์ของเบลเยียม เพื่อโน้มน้าวให้ผู้นำฝรั่งเศส เยอรมนี และสหราชอาณาจักร มอบเครื่องบินขับไล่ให้ยูเครนใช้ทำสงครามกับรัสเซีย

ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี มีกำหนดการกล่าวสุนทรพจน์โน้มน้าวที่ประชุมสุดยอดผู้นำสหภาพยุโรปและกล่าวต่อรัฐสภายุโรประหว่างการเดินทางเยือนต่างประเทศครั้งที่ 2 นับตั้งแต่สงครามในยูเครนเริ่มต้นขึ้น
ในกรุงปารีส ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศสและนายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ ของเยอรมนี ได้เน้นย้ำว่า รัสเซียจะต้องไม่ชนะสงครามนี้
นายเซเลนสกี กล่าวว่า ฝรั่งเศสและเยอรมนี มีโอกาสที่จะเป็น “ผู้พลิกสถานการณ์”
เขายังได้ยกย่องความเป็นเอกภาพของสหภาพยุโรป และกล่าวว่า หากยูเครนได้รับอาวุธพิสัยไกล อาวุธหนัก และเครื่องบินที่ทันสมัยเร็วขึ้นเท่าไหร่ “การรุกรานของรัสเซียจะยุติลงเร็วขึ้นเท่านั้น”
ก่อนหน้านี้เขาได้กล่าวต่อที่ประชุมร่วมของรัฐสภาสหราชอาณาจักรที่ห้องโถงเวสต์มินสเตอร์ เน้นย้ำการร้องขอเครื่องบินขับไล่ “อิสรภาพจะชนะ เรารู้ว่า รัสเซียจะพ่ายแพ้” ด้านนายกรัฐมนตรีริชี ซูแน็ก บอกกับเขาว่า ยังไม่มีการตัดเรื่องใดออกจากการพิจารณา
นายเซเลนสกีเดินทางโดยเครื่องบินไปยังกรุงบรัสเซลส์ พร้อมกับประธานาธิบดีมาครง เมื่อวันที่ 9 ก.พ. หลังจากผู้นำฝรั่งเศสสัญญาว่า ยูเครนสามารถเชื่อมั่นในการสนับสนุนของเขาได้ โดยฝรั่งเศส “มุ่งมั่นในการช่วยเหลือยูเครนให้คว้าชัยชนะ และกอบกู้สิทธิ์อันชอบธรรมกลับคืนมา”
ด้านนายชอลซ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “จุดยืนไม่เปลี่ยนแปลง รัสเซียต้องไม่ชนะสงครามนี้”
ขณะที่ประธานาธิบดีมาครงส่งสัญญาณก่อนหน้านี้ว่า ยังคงเปิดกว้างในการพิจารณาส่งเครื่องบินขับไล่ให้ยูเครน แต่นายกรัฐมนตรีเยอรมนีได้ตัดโอกาสนี้แล้ว

เจ้าหน้าที่ทางการยุโรปรู้ว่า ผู้นำยูเครนจะมีการเน้นย้ำถึงการเร่งส่งมอบอาวุธที่รับปากว่า จะส่งให้กับยูเครน รวมถึงการโน้มน้าวขอเครื่องบินรบ
เนื่องจากสงครามที่ยืดเยื้อในยูเครนทำให้นายเซเลนสกี แทบจะไม่เดินทางออกจากประเทศเลย และเจ้าหน้าที่อาวุโสของทางการยูเครนคนหนึ่งกล่าวว่า เขาเดินทางเพื่อให้บรรลุผลตามที่เขาต้องการ
แม้การประชุมสุดยอดผู้นำสหภาพยุโรปในวันที่ 9 ก.พ. ไม่ใช่การประชุมเกี่ยวกับสัญญาการมอบอาวุธต่าง ๆ แต่เป็นโอกาสที่ประธานาธิบดียูเครนจะได้อยู่ในห้องประชุมกับผู้นำสหภาพยุโรปทั้ง 27 คน
เขากล่าวว่า นอกจากรถถังเล็ปเพิร์ด 2 ที่ชาติตะวันตกหลายชาติรับปากว่า จะส่งให้กับยูเครนแล้ว เครื่องบินขับไล่และขีปนาวุธพิสัยไกลก็มีความสำคัญ
แม้ว่านายเซเลนสกี กล่าวว่า เขาได้หารือเรื่องเครื่องบินรบในกรุงปารีสแล้ว เขาเตือนว่า “มีเวลาเหลือน้อยมาก” ในการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีความจำเป็นอย่างมากให้ยูเครน
ทั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสและนายกรัฐมนตรีเยอรมนีเคยเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์หลายครั้งจากการที่ให้ความสนับสนุนแก่ยูเครนล่าช้าเกินไป
ก่อนหน้านี้ นายเซเลนสกีเคยแสดงความไม่พอใจต่อนายมาครง ซึ่งยังคงโทรศัพท์พูดคุยกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซียอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่รัสเซียบุกยูเครน
แต่ประธานาธิบดียูเครน กล่าวต่อหนังสือพิมพ์ Le Figaro ภาษาฝรั่งเศสว่า เขาเชื่อว่า นายมาครงได้เปลี่ยนไปแล้ว เขากล่าวว่า เรื่องนี้เห็นได้จากการรับปากของนายมาครงในการสนับสนุนยูเครนให้คว้าชัยชนะ และความจริงที่ว่า เขา “เปิดประตู” ในการส่งมอบรถถังเมื่อเดือนที่แล้ว
นายกรัฐมนตรีมาร์ก รุตเตอ ของเนเธอร์แลนด์ กล่าวว่า ต้องมีการหารือประเด็นที่อ่อนไหวหลายเรื่องก่อนตัดสินใจว่า จะส่งเครื่องบินขับไล่ให้ “ข้อดีและข้อเสียต่าง ๆ คุณต้องมั่นใจว่า คุณไม่ได้กำลังเข้าสู่มาตรา 5 ที่เป็นการเผชิญหน้าโดยตรงระหว่างนาโตและรัสเซีย” เขากล่าวกับบีบีซี
ก่อนหน้านี้ สถานทูตรัสเซียในกรุงลอนดอนได้เตือนสหราชอาณาจักรไม่ให้ส่งเครื่องบินขับไล่ให้ยูเครน ซึ่งทางสถานทูตเรียกว่า การทำเช่นนี้จะเป็นทั้งโลกเผชิญกับความเสียหายอย่างอย่าง
รัฐบาลรัสเซียได้เตือนชาติตะวันตกแล้วหลายครั้งว่า อย่าส่งอาวุธให้กับยูเครน นับตั้งแต่สงครามเริ่มต้นขึ้น และมักจะขู่ว่า จะแก้แค้นสิ่งที่รัฐบาลรัสเซียเรียกว่า เป็น “การยั่วยุ”
ทำเนียบนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ระบุว่า นายเบน วอลเลซ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกำลังพิจารณาว่า เครื่องบินจะมอบโอกาสอะไรให้แก่ยูเครนบ้าง แต่ได้เน้นย้ำว่า นี่คือ “ทางออกระยะยาว” และการฝึกหัดนักบินอาจใช้เวลาหลายปี